วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557



สภาพแวดล้อมทางกายภาพของทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย



ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย (Australia and Oceania) เป็นทวีปที่เล็กที่สุดของโลก มีลักษณะเป็นเกาะตั้งอยู่ในซีกโลกใต้ เชื่อกันว่าเป็นทวีปที่มีความเก่าแก่มาก แต่ถูกค้นพบหลังสุด ทวีปนี้ได้รับสมญานามว่า ทวีปเกาะ เนื่องจากเป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยเกาะขนาดใหญ่ ได้แก่ ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) ประเทศนิวซีแลนด์ (New Zealand) และหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศบนเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก


ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

          ออสเตรเลียเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กที่สุด อยู่ทางใต้ มีหมู่เกาะต่างๆมากมาย มีความเชื่อกันว่าเป็นทวีปที่มีความเก่าแก่มาก แต่เพิ่งถูกค้นพบหลังจากทุกทวีป สันนิษฐานว่าประชากรชาวพื้นเมืองอพยพมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ดินแดนออสเตรเลียนั้นได้มีการกำหนดไว้ในแผนที่ของปิโตเลมี โดยเขาให้ชื่อว่าแทร์ราอันคอกนิตา แต่การสำรวจได้สำเร็จนั้นล่วงเลยมาจนถึงสมัย ของอเบล แจนซูน แทสมัน ได้สำรวจรอบเกาะออสเตรเลียสำเร็จ และได้ค้นพบเกาะวันไดแมน หรืออีกชื่อหนึ่งว่าเกาะแทสมัน แต่การค้นพบของ เขาก็มิได้สร้างความสนใจให้แก่ชาวดัตช์ในสมัยนั้นมากนัก จนกระทั่งมาถึงสมัยของกัปตัน เจมส์ คุก นักเดินเรือผู้ชอบการศึกษาดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ทำการยึดเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่สมัยนั้นรัฐบาลอังกฤษไม่ได้ให้ความ สนใจแก่เกาะออสเตรเลียมากนัก ต่อมาก็เริ่มมีการขนนักโทษจากเกาะอังกฤษมาอาศัยภายใต้การนำของกัปตันอาร์เธอร์ ฟิลลิป ได้ขึ้นเกาะที่เมืองปอร์ต แจ็กสัน ซึ่งมีชื่อในปัจจุบันว่าเมืองนิวเซาท์เวลส์



ลักษณะทางกายภาพของทวีปออสเตรเลียและเชียเนีย
    ลักษณะทางกายภาพ
       ที่ตั้ง  
             อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย และเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในซีกโลกใต้  ระหว่างละติจูดที่ 10 องศา  41 ลิปดาใต้ ถึง 43 องศา 39 ลิปดาใต้ และลองจิจูด 113 องศา 9 ลิปดาตะวันออก ถึง 153 องศา 39 ลิปดาตะวันออก
อาณาเขต
          ภูมิภาคและประเทศต่างๆของทวีปออสเตรเลีย อาณาเขตติดต่อของทวีปออสเตรเลียมีดังนี้
ทิศเหนือ          ติดกับมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
ทิศตะวันออก     ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ทิศใต้             ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันตก      ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
          นับว่าทวีปออสเตรเลียตั้งอยู่ในดินแดนตอนใต้ มีน้ำล้อมรอบระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ใช้ทางน้ำ และทางอากาศติดต่อกับประเทศอื่น
                
           ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย เป็นที่ตั้งของประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์
ทวีปออสเตรเลียได้รับสมญานามว่า ทวีปเกาะ ส่วนหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศอื่น ๆ ต่อเนื่องไปถึงทวีปแอนตาร์กติก เรียกว่า โอเชียเนีย หมายถึง เกาะและหมู่เกาะในภาคกลางและภาคใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งหมู่เกาะไมโครนีเซีย เมลานีเซีย โปลีนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะมลายู  ทวีปออสเตรเลียเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
1. ออสเตรเลีย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
2. หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะเซโลมอน ฟิจิ วานูอาตู
คิริบาส ซามัวตะวันตก ตองกา ตูวาลู นาอูรู ไมโครนีเซีย

ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนียประกอบด้วยประเทศต่างๆ ดังนี้




ลักษณะทางกายภาพประเทศออสเตรเลีย
ที่ตั้งและขนาด
ประเทศออสเตรเลียตั้งอยู่ในซีกโลกใต้ ระหว่างละจิจูด 10 องศา 41 ลิปดาใต้ ถึง 43 องศา 39 ลิปดาใต้ และลองจิจูด 113 องศา 9 ลิปดาตะวันออก ถึง 153 องศา 39 ลิปดาตะวันออก
ประเทศออสเตรเลียเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7,686,848 ล้านตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่ประมาณ 15 เท่าของประเทศไทย มีความยาวจากเหนือถึงใต้ประมาณ 3,220 กิโลเมตร และความยาวจากตะวันตกถึงตะวันออกประมาณ 3,860 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ
ประเทศออสเตรเลียมีลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการผุพังของหินที่เก่าแก่ โครงสร้างและลักษณะภูมิประเทศของออสเตรเลีย สามารถแบ่งออกเป็น 3 เขตใหญ่ๆ คือ
1. บริเวณที่สูงด้านตะวันออก บริเวณนี้มีเทือกเขาสูงวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับชายฝั่งตะวันออกมีระยะทางยาวประมาณ 3,500 เรียกว่า เทือกเขาเกรตดิไวดิง (Great Dividing Range) โดยเริ่มจากตอนใต้ของคาบสมุทรเคปยอร์กตอนเหนือ ทอดตัวยาวขนานชายฝั่งไปจนถึงช่องแคบบาสส์ทางตอนใต้ของประเทศ มียอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ในเขตเทือกเขานี้ทางตอนใต้ ชื่อยอดเขาคอสซีอัสโก (Kosciusko) มีความสูงจากทะเลปานกลางประมาณ 2,228 เมตร สูงน้อยกว่าดอยอินทนนท์ของประเทศไทย ซึ่งมีความสูงประมาณ 2,565 เมตร ในเทือกเขาเกรตดิไวดิง ประกอบด้วยเทือกเขาอีกหลายทิวและเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำดาร์ลิง แม่น้ำเมอร์รีย์ แม่น้ำวอร์เรโก แม่น้ำฟลินเดอร์ แม่น้ำเมอรัมบิดจี เป็นต้น ลักษณะการวางตัวของแนวเทือกเขาทำให้เป็นแนวปะทะลม ดังนั้นจึงทำให้ฝนตกหนักบริเวณด้านหน้าเทือกเขาซึ่งเป็นด้านรับลม ขณะที่ด้านหลังของเทือกเขาจะมีฝนน้อยกว่าจึงเป็นเขตเงาฝน
2. บริเวณที่ราบสูงด้านตะวันตก บริเวณนี้ครอบคลุมเนื้อที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง เฉลี่ยประมาณ 300 เมตร ที่ราบสูงนี้มีระดับสูงมากทางด้านตะวันตก ลาดเทไปด้านตะวันออกซึ่งเป็นตอนในของแผ่นดิน ที่ราบสูงที่สำคัญ ได้แก่ ที่ราบสูงคิมเบอร์เลย์และที่ราบสูงบาร์กลี มีเทือกเขาซึ่งมีระดับสูงไม่มากนักแทรกสลับอยู่เป็นตอนๆ ได้แก่ เทือกเขาแฮเมอร์สลีย์ เทือกเขามัสเกรฟ และเทือกเขาแมคดอนเนลล์  นอกจากนี้ยังปรากฏทะเลทรายอยู่หลายแห่ง  ได้แก่ ทะเลทรายวิกตอเรีย ทะเลทรายเกรตแซนดี และทะเลทรายกิบสัน
3. บริเวณที่ราบต่ำตอนกลาง เป็นพื้นที่อยู่ตรงกลางประเทศ ซึ่งขนาบข้างด้วยที่ราบสูงด้านตะวันตกและที่ราบสูงด้านตะวันออก หรือเป็นที่ราบต่ำตั้งแต่อ่าวคาร์เพนทาเรีย ทางด้านเหนือจนถึงอ่าวสเปนเซอร์และอ่าวเกรตออสเตรเลียนทางด้านใต้ พื้นที่นี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ที่ราบตอนกลางของประเทศ (The Central Plain) โดยรวมแล้วมีลักษณะเป็นที่ราบที่เกือบจะต่อเนื่องกันประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศแบ่งออกเป็น 4 เขต ดังนี้
3.1) ที่ราบนัลลาบอร์ คำว่า นัลลาบอร์ เป็นภาษาพื้นเมือง แปลว่า ไม่มีต้นไม้อยู่เลย และไม่ปรากฏว่ามีแม่น้ำสายใดไหลผ่าน ที่ราบบริเวณนี้มีแต่ความแห้งแล้งกันดาร หรืออาจเรียกที่ราบผืนนี้ว่า ที่ราบอ่าวเกรตออสเตรเลียนไบต์ เพราะอยู่ติดกับอ่าวเกรตออสเตรเลียนไบต์
3.2) ที่ราบลุ่มแม่น้ำดาร์ลิง-เมอร์รีย์ เป็นที่ราบที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 1 ล้านตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำเมอร์รีย์และแม่น้ำดาร์ลิงไหลผ่าน แม่น้ำสองสายนี้นับได้ว่าเป็นแม่น้ำสายที่
ยาวและใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดในออสเตรเลีย แม่น้ำทั้งสองสายนี้เกิดจากที่สูงทางตะวันออกและไหลออกทะเลอเล็กซานเดรีย ที่ราบลุ่มเขตนี้โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของนิวเซาท์เวลส์ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศ
3.3) ที่ราบรอบทะเลสาบแอร์ เป็นที่ราบที่ค่อนข้างแห้งแล้ง โดยปรากฏทะเลทรายอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ทะเลทรายสจ๊วตและทะเลทรายกิบสัน และมีทะเลสาบแอร์ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศอยู่ในบริเวณนี้ด้วย
3.4) ที่ราบรอบอ่าวคาร์เพนทาเรีย เป็นที่ราบต่ำรอบอ่าวคาร์เพนทาเรียซึ่งเกิดจากตะกอนที่แม่น้ำพัดพามาทับถมกัน โดยมีแนวเขาเชลวิลวางตัวขวางแยกออกจากที่ราบรอบทะเลสาบแอร์ ที่ราบผืนนี้วางตัวขนานไปกับแนวชายฝั่ง โดยจะมีระดับสูงมากขึ้นเมื่อลึกเข้ามาในแผ่นดิน

โครงสร้างทางธรณีวิทยาของออสเตรเลีย
โครงสร้างทางธรณีวิทยาของออสเตรเลียมีอายุเก่าแก่มากที่สุดและมีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน หินพื้นฐานเป็นหินในยุคพรีเคมเบรียนซึ่งมีอายุกว่า 3,000 ล้านปี ซึ่งสามารถจำแนกโครงสร้างแบบต่างๆ ของออสเตรเลีย ดังนี้
1. เขตหินเก่าทางภาคตะวันตกของออสเตรเลีย จัดว่าเป็นหินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งแสดงให้เห็นชั้นของหินในสมัยต่างๆ ตามเส้นแนวนอน ประกอบด้วยหินแกรนิต ชิสต์ และหินชนวน ลักษณะภูมิประเทศของเขตนี้ประกอบไปด้วยที่ราบสูง เช่น ที่ราบสูงอาร์นเฮม บาร์คลีย์ เทือกเขาแมคดอเนลล์ เป็นต้น ขอบของที่ราบสูงจะค่อยๆ ลาดลงสู่ตอนกลาง ทำให้น้ำฝนที่ตกไหลลง ตอนกลาง ส่วนที่ราบสูงในภาคใต้มีที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งบางส่วนยาวลาดลงไปทางใต้ จนจมหายไปในทะเลกลายเป็นอ่าวสเปนเซอร์และอ่าวเซนต์วินเซนต์
2. เขตที่ราบลุ่มทางภาคตะวันออกของออสเตรเลีย เป็นเขตที่อยู่ระหว่างเขตเทือกเขาทางด้านตะวันออกและเขตหินเก่าทางด้านตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใต้ท้องทะเลมาก่อน ต่อมามีการทับถม ทำให้แอ่งแผ่นดินที่เคยอยู่ใต้ทะเลตื้นเขินขึ้นในยุคครีเทเชียส แต่หินพื้นฐานเป็นหินที่เกิดในมหายุคพรีแคมเบรียนหรือพาลีโอโซอิก
3. เขตกลุ่มเทือกเขาทางด้านตะวันออกของออสเตรเลีย เขตนี้มีความยาวตั้งแต่แหลมยอร์กไปจนถึงแทสมาเนีย ประกอบด้วยเทือกเขาหลายทิว ที่สำคัญ คือ เทือกเขาเกรตดิไวดิง ซึ่งเป็นภูเขาเก่าตั้งแต่มหายุคพรีแคมเบรียนมาถึงยุคเทอร์เชียรี เป็นภูเขาที่เกิดจากการโก่งตัวและการเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก กลุ่มเทือกเขานี้ถูกกัดกร่อนจนเหลือความสูงใกล้เคียงกับที่ราบสูง ความสำคัญทางธรณีวิทยาและสภาพอากาศที่เหมาะสมของเขตกลุ่มเทือกเขานี้ จึงทำให้บริเวณพื้นที่นี้เป็นกระดูกสันหลังทางด้านเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย

ลักษณะภูมิอากาศ
ตามหลักเกณฑ์การแบ่งเขตอากาศของเคิปเปิน สามารถแบ่งเขตอากาศของออสเตรเลียได้เป็น 7 เขต คือ
1. ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (tropical rain-forest climate) ได้แก่ พื้นที่ทางภาคตะวัน-ออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย (บริเวณรัฐควีนแลนด์) ครอบคลุมไปถึงเกาะนิวกินีและเขต ไมโครเซีย โดยในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนและมีฝนตกชุก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในฤดูหนาวอากาศจะอบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงกว่า 1,000 มิลลิเมตรต่อปี ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้เขตร้อน มีทั้งไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็ง โดยเฉพาะในบริเวณเกาะนิวกินีมีป่าที่มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น ส่วนบริเวณหมู่เกาะอื่นๆ มีต้นไม้ไม่สูงมากนัก
2. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (savanna climate) ได้แก่ พื้นที่ทางตอนเหนือของเส้น ทรอปิกออฟแคปริคอร์น บริเวณตะวันออกค่อนไปทางเหนือ ตะวันตก แล้วลงมาทางใต้ มีลักษณะโอบเป็นวงในประเทศออสเตรเลีย และบริเวณชายฝั่งทั้ง 2 ด้านของประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศฟีจี ลักษณะอากาศในฤดูร้อน อากาศค่อนข้างร้อน มีอุณหภูมิสูงตลอดปีและมีฝนตกปานกลาง ประมาณ 750-1,500 มิลลิเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนฤดูหนาวอากาศอบอุ่นจนถึงร้อน ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติจะเป็นทุ่งหญ้าแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้างมีต้นไม้ขึ้นกระจายห่างๆ ต้นหญ้าจะสูงใหญ่มีสีเขียวในฤดูฝน ส่วนฤดูร้อนจะแห้งเป็นฟางสีเหลือง
3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย (desert climate) ได้แก่ พื้นที่ตอนกลางของทวีปออสเตรเลียและทางภาคตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ เป็นเขตที่มีอุณหภูมิสูงและได้รับฝนน้อยมาก ส่วนใหญ่น้อยกว่า 250 มิลลิเมตรต่อปี โดยฝนจะตกมากในฤดูร้อน พื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบทะเลทรายมีอยู่หลายแห่งต่อเนื่องกัน ได้แก่ ทะเลทรายเกรตแซนดี ทะเลทรายเกรตวิกตอเรีย ทะเลทรายกิบสัน ทะเลทรายซิมป์สัน ทะเลทรายนานามิ และทะเลทรายสจ๊วต โดยเฉพาะทะเลทรายเกรตแซนดีและทะเลทรายเกรตวิกตอเรียจะมีเนื้อที่ 388,500 ตารางกิโลเมตรเท่ากัน นับเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่มากของออสเตรเลีย ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติจะมีทุ่งหญ้าขึ้นกระจายเป็นหย่อมเล็กๆ นอกจากนี้ก็มีกระบองเพชร ต้นวาราตาห์ และป่าไม้หนาม
4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย (steppe climate) ได้แก่ พื้นที่โดยรอบเขตทะเลทรายในออสเตรเลีย ได้แก่ ดินแดนที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลทรายกับเขตอากาศร้อนชื้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อากาศค่อนข้างอบอุ่นถึงร้อน ส่วนในฤดูหนาว อากาศหนาว เป็นพื้นที่อีกเขตหนึ่งที่ได้รับปริมาณน้ำฝนน้อย ประมาณ 300-750 มิลลิเมตรต่อปี ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าแคระ มีพุ่มไม้ขึ้นหนากระจายอยู่ทั่วไป และมีทุ่งหญ้าขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ ในช่วงที่มีฝนตกจะมีพืชพรรณพวกไม้ดอกเจริญเติบโตได้บ้างแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ
5. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean climate) ได้แก่ อากาศบริเวณทางใต้รอบเมืองแอดิเลดและตะวันตกเฉียงใต้รอบเมืองเพิร์ท เป็นเขตภูมิอากาศอบอุ่นที่มีฝนตกปานกลางในฤดูหนาว โดยได้รับอิทธิพลของลมประจำตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนในฤดูร้อนจะแห้งแล้ง เพราะไม่มีลมที่พัดผ่าน ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้เขตอบอุ่น ซึ่งลำต้นไม่สูงใหญ่มากนัก ใบเล็กแข็งเป็นมัน มีสีเขียวตลอดปี เช่น ต้นคอร์ก โอ๊ก มะกอก องุ่น พืชพรรณไม้ผลสกุลส้มสลับกับทุ่งหญ้า
6. ภูมิอากาศชื้นกึ่งเขตร้อน (humid subtropical climate) ได้แก่ บริเวณทางตะวันออกของออสเตรเลีย เป็นเขตอากาศอบอุ่นที่มีฝนตกตลอดทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว เฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิเมตร ในฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัดและฤดูหนาวอากาศอบอุ่น ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้ผลัดใบต่อปี ต้นไม้สูงใหญ่ ใบกว้าง มีหลายชนิดขึ้นปะปนอย่างหนาแน่น ซึ่งต้นไม้เหล่านี้จะมีสีเขียวในฤดูร้อนและสลัดใบในฤดูหนาว เช่น ต้นยูคาลิปตัส ต้นอะเคเซีย เป็นต้น
7. ภูมิอากาศภาคพื้นสมุทรชายฝั่งทะเลตะวันตก (marine west-coast climate) ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์และชายฝั่งของรัฐวิกตอเรีย ลักษณะอากาศในเขตนี้อบอุ่นและคล้ายคลึงกับภูมิอากาศในยุโรปตะวันตก จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวอังกฤษเลือกที่ตั้งอาณานิคมแห่งแรกที่บริเวณชายฝั่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ลักษณะ พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าไม้ผลัดใบและไม้สนเป็นส่วนใหญ่
ทรัพยากรธรรมชาติ
ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายชนิด ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญๆ ได้แก่
1. ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้ของออสเตรเลียส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามเขตภูเขาทางภาคตะวันออกและทางเหนือ พบบ้างทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออสเตรเลียตะวันตก พืชพรรณที่สำคัญ ได้แก่ ยูคาลิปตัสและอะคาเซีย เขตป่าไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจะกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ในรัฐควีนส์แลนด์ นิวเซาท์เวลส์ วิกตอเรีย แทสเมเนีย และออสเตรเลียตะวันตกเฉียงใต้
2. ทรัพยากรดิน ดินหลายแห่งในออสเตรเลียเป็นดินที่ยังใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน แต่คุณภาพไม่ดี เนื่องจากวัตถุต้นกำเนิดดินปราศจากแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยในหลายบริเวณ ทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นทะเลทรายและหลายแห่งฝนตกหนักจนเกิดการชะล้างซึมลงใต้ผิวดิน
3. ทรัพยากรแร่ ปัจจุบันออสเตรเลียกลายเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งแร่ธาตุออกที่สำคัญของโลกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ออสเตรเลียยังเป็นแหล่งสำรองทรัพยากรแร่ที่สำคัญหลายชนิด เช่น
- แร่เหล็ก มากกว่าครึ่งจะพบในบริเวณเทือกเขามิดเดิลแบ็ค (Middleback) ในรัฐออสเตรเลียใต้
- ถ่านหิน ประมาณครึ่งหนึ่งจะพบอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
- แร่ทองแดง มีการทำเหมืองแร่ทองแดงในออสเตรเลียกันมานานแล้ว แหล่งผลิตแร่ทองแดงที่สำคัญอยู่ในรัฐควีนส์แลนด์ แทสเมเนีย และนิวเซาท์เวลส์ ตามลำดับ
4. ทรัพยากรพลังงาน พบทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
- น้ำมัน ที่พบในออสเตรเลียนั้นยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและยังจำเป็นต้องมีการนำเข้า แหล่งสำคัญที่พบน้ำมันอยู่ในบริเวณช่องแคบแบสล์ (Bass) นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐวิคตอเรีย
- ก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันออสเตรเลียได้พบแหล่งก๊าซธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะชายฝั่งทางด้านตะวันตกของทวีปในรัฐออสเตรเลียตะวันตก หรือแม้แต่ในบริเวณหมู่เกาะปะการังของออสเตรเลียในน่านน้ำของมหาสมุทรอินเดียก็พบแหล่งก๊าซธรรมชาติในปริมาณมากเช่นกัน
- พลังงานน้ำ แหล่งผลิตพลังงานน้ำที่สำคัญ คือ บริเวณลุ่มแม่น้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิงและแม่น้ำสโนวี
5. ทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์พื้นเมืองที่สำคัญของออสเตรเลีย ได้แก่ จิงโจ้ สุนัขดิงโก โคอาลา นกอีมู เป็นต้น



ลักษณะทางกายภาพของประเทศนิวซีแลนด์
ที่ตั้งและขนาด
นิวซีแลนด์เป็นประเทศหมู่เกาะ อยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลีย มีเนื้อที่ประมาณ 268,670 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะต่างๆ ดังนี้
1. เกาะเหนือและเกาะใต้ (North and South Islands) ระหว่างเกาะทั้งสองมีช่องแคบคุก (Cook Strait) คั่นอยู่
2. เกาะสจ๊วตหรือราคิวรา (Stewart or Rakiura Island) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะใต้ มีช่องแคบโฟโวขวางกั้นอยู่
3. เกาะชาแทม (Chatham Island) อยู่ทางตะวันออกของเกาะใต้
4. หมู่เกาะ 3 กลุ่มในมหาสมุทรแปซิฟิก คือหมู่เกาะคุก หมู่เกาะโตเกเลา หมู่เกาะนิอู และดินแดนในทวีปแอนตาร์กติก
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของนิวซีแลนด์แบ่งได้เป็น 2 เขต คือ
1. เกาะเหนือ ประกอบด้วยภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทและยังทรงพลังอยู่หลายลูก โดยเฉพาะภูเขาไฟอาเปฮูซึ่งยังทรงพลังอยู่ (ปะทุครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2539) นับเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเกาะเหนือ สูงประมาณ 2,800 เมตร ภูเขาไฟเอกมองต์ เป็นภูเขาไฟรูปกรวยที่มีสัดส่วนงดงาม บริเวณปากปล่องภูเขาไฟบางแห่งมีน้ำขังกลายเป็นทะเลสาบที่สวยงาม
เช่น ทะเลสาบเทาโป ทะเลสาบไวราปา ทะเลสาบโรโตรัว และยังมีน้ำพุร้อนที่สามารถใช้เป็นพลังงานความร้อนได้ ส่วนที่ราบมีเป็นบริเวณแคบๆ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำวังกานุย ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ไวตาโกเทมส์ ที่ราบนารานากิ เป็นต้น
2. เกาะใต้ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาทอดตัวยาวตามแนวการวางตัวของเกาะจากตะวันออกเฉียงเหนือไปยังตะวันตกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกว่า เซาท์เทิร์นแอลป์ ทอดเป็นแนวยาวคล้ายกระดูกสันหลังของเกาะ มียอดเขาคุกเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 3,764 เมตร ยอดเขาโดยทั่วไปจะมีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดทะเลสาบบนภูเขา นอกจากนี้ยังมี ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ คือ ที่ราบแคนเทอร์เบอรี ทางใต้ของเกาะมีเกาะสจ๊วตอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 12 กิโลเมตร
โครงสร้างทางธรณีวิทยาของนิวซีแลนด์
โครงสร้างทางธรณีวิทยาของนิวซีแลนด์ คือ ส่วนที่เปลือกโลกโก่งตัวสูงขึ้นจนมีลักษณะสูงชันโผล่พ้นพื้นน้ำ ลักษณะส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีทั้งประเภทโก่งตัว หักตัว และภูเขาไฟ
บริเวณเกาะเหนือมีการกัดเซาะพังทลายซึ่งเกิดจากการกระทำของฝนมากกว่าอย่างอื่น ฝนซึ่งตกหนักในเกาะเหนือได้กัดเซาะหินในยุคเทอร์เชียที่มีความแข็งแกร่งน้อยไปทับถมในบริเวณต่างๆ ทำให้เกิดที่ราบในหลายบริเวณ เช่น แม่น้ำไวกาโตได้กัดเซาะดินและหิน ในบริเวณที่สูงตอนกลางของเกาะไปทับถมในบริเวณลุ่มแม่น้ำไวกาโต ส่วนที่ราบบริเวณอ่าวเพลนตี ก็เกิดจากการทับถมของแม่น้ำหลายสายที่มีต้นกำเนิดในบริเวณที่สูงตอนกลางของเกาะเหนือด้วย
ส่วนในเกาะใต้ธารน้ำแข็งได้กัดเซาะบริเวณที่สูง ทำให้เกิดภูมิประเทศซึ่งเกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็งหลายลักษณะ เช่น เป็นหุบเขาลึกยาว หุบเขาบางแห่งมีน้ำแช่ขังกลายเป็นทะเลสาบซึ่งมีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม นอกจากธารน้ำแข็งยังมีลมเป็นตัวการในการกัดเซาะซึ่งได้กัดเซาะดินและหินในที่สูงไปทับถมในบริเวณไหล่เขา ลาดเขาและในบริเวณที่ต่ำ ทำให้เกิดที่ราบตามบริเวณไหล่เขาเป็นแนวติดต่ออยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเล
ลักษณะภูมิอากาศ
นิวซีแลนด์เป็นเกาะที่อยู่ในเขตละติจูดปานกลาง จึงทำให้ลักษณะอากาศทั่วไปอบอุ่น อากาศไม่ค่อยรุนแรงมากนัก ตามการแบ่งระบบภูมิอากาศของเคิปเปิน จัดได้ว่าประเทศนิวซีแลนด์มีสภาพอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก
นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยที่สูงและภูเขา ดังนั้นสภาพภูมิประเทศจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อลักษณะภูมิอากาศ เนื่องจากภูเขาในแนวเหนือ-ใต้จะขวางกั้นทิศทางลมตะวันตก โดยเฉพาะเทือกเขาแอลป์ทางใต้ เนื่องจากลมตะวันตกที่พัดผ่านทะเลมาจะนำเอาความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้ด้านหน้าเขารับลมมีฝนตกตลอดปี ส่วนด้านหลังเขาเป็นเขตเงาฝน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของนิวซีแลนด์ ได้แก่
1. ทรัพยากรดิน ประเทศนิวซีแลนด์มีดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนภูเขาไฟ พื้นที่บริเวณที่ราบทั้งบนเกาะเหนือและเกาะใต้ เหมาะแก่การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์
2. ทรัพยากรน้ำ ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของนิวซีแลนด์เป็นที่สูง กระแสน้ำในแม่น้ำต่างๆ จึงไหลแรง เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ในด้านพลังงาน นอกจากนี้ประเทศนิวซีแลนด์ยังมีภูเขาไฟที่ยังทรงพลัง มีน้ำพุร้อนทั้งชนิดที่เป็นน้ำพุธรรมดาและน้ำพุพุ่งขึ้นสูง หรือ กีเซอร์ (geyser) สามารถต่อท่อไอน้ำจากน้ำพุร้อนไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย
3. ทรัพยากรป่าไม้ ประเทศนิวซีแลนด์มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ไม้ที่พบมีทั้งไม้เนื้ออ่อนและ ไม้เนื้อแข็ง
4. ทรัพยากรแร่ธาตุ แร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ถ่านหิน ทองคำ เป็นต้น
5. ทรัพยากรสัตว์ ประเทศนิวซีแลนด์ไม่มีสัตว์ดุร้ายเนื่องจากลักษณะของเกาะที่แยกตัวก่อนเกิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบ ได้แก่ ค้างคาว นอกจากนี้ยังพบนกมากมายหลายชนิด บางชนิดบินไม่ได้ ที่น่าสนใจ เช่น นกกีวี (kiwi) ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของนิวซีแลนด์



ลักษณะทางกายภาพของประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
หมู่เกาะต่างๆในมหาสมุทรแปซิฟิก (The Pacific Islands) เกิดขึ้นเนื่องจากการหดตัวของเปลือกโลก เมื่อโลกเย็นตัวลงทำให้เปลือกโลกมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงและเกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกแผ่นต่างๆ
ที่ตั้งและขนาด
หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกกระจายตัวกันอยู่ระหว่างละติจูดที่ 0 องศาใต้จนถึง 25 องศาใต้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามลักษณะชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ได้แก่
1. หมู่เกาะเมลานีเซีย (Melanesia) อยู่ใกล้ออสเตรเลีย ประกอบด้วยเกาะนิวกินีและเกาะทางตะวันออกไปจนถึงหมู่เกาะฟิจิ
2. หมู่เกาะไมโครนีเซีย (Micronesia) ประกอบด้วยเกาะเล็กๆ กระจายอยู่ตอนกลางและทางตะวันตกของมหาสมุทรเหนือเส้นศูนย์สูตร
3. หมู่เกาะโปลินีเซีย (Polynesia) อยู่ทางตะวันออกสุดของภูมิภาคไปจนถึงหมู่เกาะฮาวายและเกาะอีสเตอร์
ทั้งนี้หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) เกาะทวีป (Continental Islands) เคยเป็นส่วนหนึ่งของทวีปมาก่อน กระแสน้ำริมฝั่งกัดเซาะทำให้เกาะทวีปถูกตัดขาดจากแผ่นดิน หรือเกิดการพังทลายของพื้นดินตรงที่ต่อกับทวีปใหญ่กลายเป็นเกาะอยู่ริมฝั่งทวีป เช่น เกาะนิวกินี นิวคาลิโดเนีย หมู่เกาะฟีจี เป็นต้น
2) เกาะมหาสมุทร (Oceanic Islands) แบ่งย่อยได้ 2 ประเภท คือ
(1) เกาะภูเขาไฟหรือเกาะสูง เกิดจากการสะสมพอกพูนของลาวาจากรอยแตกของพื้นมหาสมุทรเป็นหินบะซอลต์ เกาะที่สูงขึ้นเหนือผิวน้ำอาจปรากฏเป็นยอดเดี่ยวๆ เป็นกลุ่มหรือเป็นแนวเทือกเขา
(2) เกาะปะการังหรือเกาะต่ำ เกิดจากการทับถมของปะการัง มีอยู่ในเขตร้อน ซึ่งมีน้ำอุ่นและใส
(3) อะทอล (atolls) เป็นเกาะรูปวงแหวน มีทางเข้าออก 2-3 ทาง ตรงกลางเป็นเขตน้ำตื้น ลึกไม่เกิน 300 ฟุต เรียกว่า ลากูน พืชบนเกาะมีแต่มะพร้าว ไม่มีคนอาศัยอยู่
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยภูเขาสูง สลับกับพื้นที่ต่ำที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งหมู่เกาะต่างๆ เหล่านี้เกิดมาจากการก่อตัวของแนวหินปะการังและการปะทุของหินภูเขาไฟ
ลักษณะภูมิอากาศ
หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นชายฝั่งทะเล โดยมีอุณหภูมิสูงเกือบตลอดปี สภาพอากาศในแต่ละเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย มีปริมาณฝนตกชุกสม่ำเสมอทุกปี
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่
1. ทรัพยากรแร่ ทรัพยากรที่แร่ที่สำคัญ ได้แก่ แร่ฟอสเฟต โดยเฉพาะประเทศนาอูรูที่มีปริมาณแร่ฟอสเฟตจำนวนมากแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปริมาณแร่ฟอสเฟตประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่เกาะ
2. ทรัพยากรสัตว์น้ำ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกมีทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำรอบบริเวณเกาะที่อุดมสมบูรณ์
3. ทรัพยากรป่าไม้ พืชส่วนใหญ่เป็นพวกตระกูลอินโดมาลายัน การแบ่งชนิดของพืชขึ้นอยู่กับลักษณะของเกาะ










แหล่งที่มาbunnjong.files.wordpress.com/2010/08/unit2.pdf



1 ความคิดเห็น: